ไฟเขียว พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม แล้ว

อ้างอิงจาก ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 11 ธ.ค. 2561  https://www.thairath.co.th/content/1441531

นับเป็นข่าวที่สร้างความยินดีให้กับบุคลากรในแวดวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ หลังจากที่ทางคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ใช้เวลาในการปรับปรุง แก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเวลากว่า 2 ปีเต็ม

แม้ในขั้นตอนของการออกกฎหมาย ยังถือว่าผ่านมาเพียงครึ่งทางเท่านั้น เพราะยังเหลือขั้นตอนในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และการฝ่าด่าน ขั้นสุดท้ายคือ การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

แต่การที่ ครม.มีมติรับรอง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการก้าวต่อไปของพ.ร.บ.ฉบับนี้

สำหรับ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. … ประกอบด้วย 31 มาตรา โดยมีมาตราสำคัญที่น่าสนใจ อาทิ

มาตรา 8 ให้รัฐอุดหนุนงบประมาณสำหรับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ตามความเหมาะสม และความจำเป็น

มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม และ มาตรา 12 กำหนดอำนาจและหน้าที่ อาทิ กำหนดนโยบาย และแผนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยโบราณราชประเพณี หรือมาตรฐานการศึกษาของชาติ กำหนดมาตรฐานการศึกษา อนุมัติหลักสูตรการศึกษา กำหนดหลักเกณฑ์และการสำเร็จการศึกษา กำหนดตำแหน่ง อัตรากำลัง เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งเงินวิทยฐานะ เงินค่าตอบแทน ค่าจ้าง สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่น การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง การอุทธรณ์ การลงโทษ รวมไปถึงการออกระเบียบต่างๆเป็นต้น

พระราชวรมุนี

มาตรา 22 การศึกษาพระปริยัติธรรมที่ได้จัดให้แก่สามเณร ซึ่งเป็นเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ และมีพื้น ความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าซึ่ง ได้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังต่อไปนี้ 1.แผนกธรรมสนามหลวง ชั้นนักธรรมเอก เป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2.แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3.แผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

และในประเด็นที่อยู่ในความสนใจคือ การกำหนดวิทยฐานะทางโลกให้กับผู้ที่จบการศึกษาทางธรรม โดยถูกกำหนดอยู่ในมาตรา 23 และ 24 คือ

มาตรา 23 ให้ผู้เรียนที่พ้นการศึกษาภาคบังคับแล้ว ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมฯ และแผนกบาลีฯ มีวิทยฐานะดังต่อไปนี้ 1.แผนกธรรมฯ ชั้นนักธรรมเอก มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2.แผนกบาลีฯ ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค มีวิทยฐานะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

มาตรา 24 ให้ผู้สำเร็จการศึกษา ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี สนามหลวง ชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยคมี วิทยฐานะระดับปริญญาตรี เรียกว่า “เปรียญธรรม 9 ประโยค”ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.9” ในกรณีที่ผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนก บาลีฯชั้นใดที่ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการกำหนด ให้ผู้นั้นมีวิทยฐานะระดับใดๆ โดยความเห็นชอบของ มส. และตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา

พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นอีกเรื่องที่อยู่ในแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และเมื่อ ครม.ให้ความ เห็นชอบ พ.ร.บ.ดังกล่าว เชื่อว่าสร้างความยินดีให้กับคณะสงฆ์ทั่วประเทศแน่นอน เพราะถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย และจะทำให้การบริการการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งแผนกธรรมบาลี และแผนกสามัญศึกษา เป็นระบบมั่นคง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางรัฐบาล

ที่สำคัญจะทำให้พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษาที่ครบถ้วนสมบูรณ์

ขณะที่ นายสิทธา มูลหงส์ ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ บอกว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว หลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ซึ่งทางรัฐบาลกำหนดไว้ว่ากฎหมายที่จะเสนอ สนช. จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ภายในวันที่ 28 ธ.ค.นี้

“ทีมข่าวศาสนา” มองว่า พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากจะเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจให้กับบุคลากรในด้านการศึกษาคณะสงฆ์ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง มั่นคงให้กับระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย

เพราะที่ผ่านมาการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นไปในลักษณะเฉพาะ หากวัดใดมีกำลังศรัทธาจากญาติโยมมาก ก็จะสามารถที่จะจัดการศึกษาให้กับพระ เณร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หากวัดใดที่เป็นวัดเล็กๆ ที่ต้องการจะจัดการศึกษาให้กับพระ เณร ก็จะไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่ จนทำให้ต้องถูกยุบสำนักเรียน สำนักศาสนศึกษา ไปในที่สุด