ถอดรหัสหมูป่าอคาเดมี สู่การจัดการศึกษาสงฆ์ไทย

โดย พระธรรมกิตติเมธี (เกษม สญฺญโต ป.ธ.๙, Ph.D.)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชาธิวาส

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชนไทย กลุ่มหนึ่งในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อันเป็นจังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย ซึ่งเธอทั้งหลายนิยมชมชอบกีฬาฟุตบอล  ต่างขยันฝึกซ้อม มีระเบียบวินัยดี รู้จักปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งการของครูผู้ฝึกสอน

อยู่มาวันหนึ่งทั้งครูผู้ฝึกหรือโค้ชและนักกีฬาพากันไปฝึกซ้อมกำลังและเทคนิคการเล่นเป็นปกติ เมื่อฝึกซ้อมกันครบตามกำหนดของตารางในวันนั้นแล้วก็พากันเข้าไปเที่ยวชมถ้ำที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่า “ถ้าหลวงขุนน้ำแม่นางนอน” ซึ่งคงจะคิดกันไปว่าเพื่อระบายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทั้งนักฟุตบอลทั้งครูฝึกรวมแล้ว 13 คน คงไม่มีใครคิดเลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับตนในวันนั้น แต่สิ่งที่ไม่ได้คิดได้เกิดขึ้นและเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ตั้งแต่เริ่มต้นจนนาทีสุดท้าย 

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ให้ บทเรียนแก่คนไทยทั้งประเทศและแก่ชาวโลกทั้งมวล  เพราะว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเด็กครั้งนี้น่าตื่นเต้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน และจบลงด้วยความงดงาม เป็นที่พอใจของผู้เกี่ยวข้องและผู้ลุ้นกับเหตุการณ์นั้นทุกฝ่าย เข้าทำนองสำนวน ฝรั่งที่เขาว่า “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” แม้จะต้องสูญเสียวีรบุรุษไปท่านหนึ่งแต่ความสูญเสียนั้นก็ยัง นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของมวลญาติและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

เรื่องราวต่างๆ นั้นจบลงแล้ว แต่บทเรียนจากสถานการณ์นั้นยังไม่จบและไม่ควรจะจบลงอย่างง่ายดาย หากแต่ควรจะจบลงอย่างมีคุณค่าที่สุดสำหรับมวลมนุษยชาติ ถ้าจะถามว่าอะไรที่คิดว่ายังไม่ควรจบ ขอตอบสรุปจากได้ติดตามเรื่องราวและความเห็นส่วนไว้ดังต่อไปนี้ 

1. ความอ่อนประสบการณ์

ที่เด็กๆ ซึ่งยังอ่อนต่อโลกและธรรมชาติจนพวกเธอมิได้สังเกตว่าถ้ำขุนน้ำแม่นางนอนนั้น เมื่อเกิดฝนตกมาก น้ำจะหลากท่วมภายในถ้ำ ขณะนั้น ฝนกำลังเริ่มตกและตกหนักขึ้นๆ ติดต่อกันหลายวันจนเกิดปรากฏการณ์ดังที่ทราบกันดีแล้ว ข้อนี้คงจะเป็นบทเรียนให้คนไทยและคนทั้งโลกได้เรียนรู้เป็นอย่างดี และคงจะได้วางอุบายแนวทางป้องกันและแก้ไขกันอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเติมเป็นครั้งที่สองขึ้นในโอกาสต่อไป

2. กระบวนการแก้ปัญหา

ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีปรากฏการณ์ที่น่าปลื้มใจ และน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเราได้เห็นคนไทยจากทุกภาคของประเทศไม่มีสีไม่มีพรรค ไม่มีพวก ไม่มีกลุ่มที่แสดงออก ซึ่งความแตกแยก ความแปลกแยก ความแบ่งแยก มีแต่ความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นเอกภาพ สร้างความระลึกถึงกันด้วยดี สร้างความรักกันฉันท์พี่น้องลูกหลานไทยด้วยมีความเคารพในความมีน้ำใจและในความสามารถของกันและกันด้วยดี มีน้ำใจสงเคราะห์อนุเคราะห์ด้วยดี ทุกคนทำหน้าที่ของตนเพื่อช่วยเหลือเด็กให้ปลอดภัยทั้งๆ ที่ตนไม่เคยรู้จักเขาเหล่านั้น ญาติเขาเหล่านั้นมาก่อนเลย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเลย แม้แต่น้ำเข้านาจนจมให้ข้าวกล้าเสียหายหลายครอบครัวไม่คิดจะรับค่าชดเชย หวังให้ได้ช่วยชีวิตลูกหลานให้รอดปลอดภัยเป็นพอใจ…หาได้ยากจริงๆ… มีแต่ความพร้อมเพรียงกันไปทุกส่วนเห็นได้ชัดจากที่มีแม้ผู้อุทิศตนช่วยซักผ้า ช่วยทำความสะอาดพื้นที่บริเวณช่วยกันทั้งจากภาคส่วนราชการทั้งจากภาคประชาชน เรียกได้ว่าช่วยกันครบวงจรสมบูรณ์แบบ สุดท้ายตรงนี้จึงมาลงที่ความเป็นเอกภาพ คือความเป็นหนึ่งเดียว คิดว่าคนไทยทุกคนผู้เป็นสุจริตชนคงจะอยากเห็นพี่น้องไทย ผู้ร้องเพลงชาติไทย ที่ว่า ….ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย …. ทุกคน อยากเห็นบรรยากาศเช่นว่านั้นเสมอเหมือนกันทุกคน  ถ้าไม่ได้ความเป็นเช่นนั้นไม่รู้ เหมือนกันว่าผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาวันนั้น/ครั้งนั้นจะมีผลออกมาอย่างไร 

3. การบริหารจัดการกับปัญหา

เหตุการณ์ที่เกิดกับทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง เกี่ยวข้องด้วยชีวิตเด็กที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่ออันตรายแก่ชีวิต เกี่ยวข้องด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัด และต้องทำงานแข่งขันให้ทันการ เกี่ยวข้องด้วยธรรมชาติ  คือน้ำฝนฟ้าอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกี่ยวข้องด้วยอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยที่มีขีดจำกัดและด้วยเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงไม่ได้มีการเตรียมพร้อม เกี่ยวข้องด้วยการจัดวางระบบระเบียบทำงาน เพื่อจัดการให้งานช่วยชีวิตเป็นไปอย่างไหลลื่น ไม่มีข้อขัดข้องหรือมีข้อขัดข้องน้อยที่สุด เกี่ยวข้องด้วยการบริหารคนที่เข้ามาช่วยเหลือที่ล้วนเป็นจิตอาสา ที่มีทั้งคนไทยที่เป็นชนชาติเดียวกัน แต่ต่างภูมิภาค ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม และ

ยังมีชนผู้เป็นจิตอาสาจากนานาประเทศ  พวกเขาเป็นคนต่างชาติต่างภาษามากันด้วยจิตอาสา มากันโดยมิได้เชื้อเชิญ  แต่มาทำงานกันได้อย่างลงตัวและสำเร็จประโยชน์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเวลาเตรียมพร้อม  ไม่มีเวลามากนักในการประสานงาน  แต่งานก็สำเร็จลงได้ด้วยดี ข้อนี้นับได้ว่า  “การบริหารจัดการกับปัญหา” เป็นไปได้ดีเยี่ยม 

4 . การประสานสัมพันธ์กับสื่อมวลชน

ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข่าวเรื่อง  “ถ้ำหลวงขุนน้ำแม่นางนอน” นี้ดังไปทั่วโลก  และเป็นข่าวที่แปลกใหม่ ทำให้สำนักข่าวทั่วโลกสนใจมาทำข่าวกันแบบอึกทึก ครึกโครมไม่แพ้เหตุการณ์อื่นๆ ธรรมดานักข่าวหรือผู้สื่อข่าวก็ต้องการอยากได้ข่าว ที่เป็นช๊อตเด็ดๆ ไปนำเสนอต่อชาวโลก โดยสำนักข่าวของตน ไม่ว่าสำนักข่าวไทย หรือสำนักข่าวต่างชาติเขาก็มุ่งหวังเช่นนั้น  แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้กล่าวได้ ว่าทางฝ่ายรัฐบาลไทยได้มีการจัดตั้งทีมแถลงข่าว และให้ข่าวได้ดีเยี่ยมแบบรู้ทันสื่อมวลชน  และได้เอื้อเฟื้อสื่อมวลชน จัดระเบียบ สื่อมวลชนได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ทำให้ลดภาวะความขัดแย้งระหว่างการทำงาน ของฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายสื่อมวลชนลงได้  มีข่าวให้สื่อมวลชนเป็นระยะๆ ไม่มีการรายงานข่าวแบบสะเปะสะปะ หรือต่างคนต่างเขียนรายงานกันไปตามความเห็นส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว 

หากไม่การจัดการประสานสัมพันธ์เรื่องนี้ให้ดีแล้ว โลกอาจจะมองประเทศไทยไปในทิศทางอื่นใดก็ได้ เพราะต้องเชื่อไปตามกระแสข่าวที่ได้รับจากสื่อนั้นๆ นี่ได้ข้อสรุปว่าโลกได้ ข่าวที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะได้การบริหารจัดการปัญหาที่เป็นระบบแม้ว่าอาจจะมีความรู้ สึกคับข้องใจบ้างสำหรับสื่อมวลชนที่มีข้อห้ามบางประการ แต่เมื่อภาพรวมว่า งานออกมาดี ส่วนมากมีความพึงพอใจก็ถือว่า “เป็นดี” 

5. บทสรุปหลังเหตุการณ์ผ่านไป 

เราคนไทยและสังคมโลกได้ข้อคิดหลายประการที่ น่าจะถือว่าเป็นบทเรียนที่ล้ำค่า เช่นว่า 

1) การที่เด็กไม่ได้ประเมินสถานการณ์อนาคตว่าการเข้าไปในถ้ำในยามนั้น จะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร นี่เพราะด้อยประสบการณ์ 

ครั้นเข้าไปติดน้ำอยู่ในถ้ำจึงไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า การประเมินสถานการณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การรู้ประมาณและการรู้ประเมิน จึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ แม้ในแวดวงการศึกษาและหรือในวงการพระพุทธศาสนา เราจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์  แล้วทำงานไปอย่างมั่นใจในความปลอดภัย ทุกที่ทุกสถานการณ์ ทุกกาลเวลาย่อมมีภัยอยู่รอบตัวเสมอ หากระมัดระวังให้ดีก็ย่อมจะมีความปลอดภัย อย่างน้อยก็ไม่ตกอยู่ในห้วงแห่งอันตราย 

2) การที่โค้ชเอกพลผู้พาน้องๆ 12 ชีวิตเข้าไปในถ้าและติดอยู่ภายในโดยไม่มีอาหาร ไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวันตั้ง 9 วัน 9 คืน แต่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ มีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย นับได้ว่าเป็นผู้มีเทคนิคสุดยอด คำแนะนำน้องๆ ของโค้ชเอกพลที่เราได้รับทราบมาจากสื่อมวลชนเพียงเล็กๆ น้อยว่า เขาแนะนำให้น้องๆ นักฟุตบอลต่อสู้กับวิกฤติชีวิตคือ “นั่งสมาธิ มีสติ เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อย” เพื่อให้สมาธิเซฟหรือถนอมพลังงาน ให้สติเสริมเติมเต็มพลังงาน พลังงานที่มีสำรองไว้แล้วให้ใช้ประโยชน์ได้นานที่สุด ทั้งนี้เพราะตัวโค้ชเอกพลเคยมีประสบการณ์ตรงที่เคยบวช เคยฝึกสมาธิ เคยอยู่ถ้ำบำเพ็ญภาวนามาก่อน เมื่อถึงคราต้องแก้ปัญหาวิกฤติชีวิตจึงดึงเอาความรู้จากประสบการณ์มาแก้ปัญหาได้ วิธีการแก้ปัญหานี้ทำเอาโลกตลึงเพราะนึกไม่ถึงว่าสมาธิจะเป็นอาหารสร้างพลังใจชั้นดีเลิศได้ขนาดนี้ 

หันกลับมามองการจัดการศึกษา

พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน มองให้ครอบคลุมทุกมิติจะพบว่า ระบบการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาของเรายังไม่ตอบโจทย์ข้อนี้ให้น่าพอใจเลย ทั้งในระบบปริยัติสามัญ ทั้งในระบบนักธรรม ทั้งในระบบบาลี เรามีเน้นอยู่แต่เพียงอักษรให้อ่านให้เขียน ให้เรียนรู้ เรามีแต่ครูบอกเล่า เรื่องราวจากตำรา เป้าหมายคือสอบได้ ตามที่เรียนรู้มา ไม่มีเวลาไม่มีคอร์สให้ได้ฝึกฝนสติและสมาธิ การเรียนจึงเป็นไปแบบอาหารจานด่วน นาทีนี้โลกหันมาสนใจการฝึกสมาธิแบบพุทธมากขึ้น เราจึงควรจะถือโอกาสปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ได้ทั้งปริยัติและปฏิบัติ อย่างมีความสมดุลกัน และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับชาวโลกที่เขาเริ่มหิวกระหายอยากดื่มด่ำพระพุทธศาสนา 

3) กระบวนการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหา ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ ต้องขอชื่นชมอย่างจริงใจว่าทางภาครัฐจัดกระบวนได้ดีอย่างหาที่ติได้ยาก ท่านผู้มีอำนาจสูงสุดได้สั่งการมอบหมายให้ความไว้วางใจแก่หัวหน้างานอย่างสมบูรณ์ และหัวหน้างานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สั่งการมิได้ลงไปก้าวก่ายงาน ผู้ร่วมงานที่มียศตำแหน่งและอำนาจมากกว่า ก็ยอมที่จะปฏิบัติไปตามกระบวนการและขั้นตอนของงาน “มิได้ อ้างศักดิ์ศรีว่าข้าพเจ้ายศสูงกว่าแล้ว ทำงานกันไม่ได้” ตลอดระยะเวลาแห่งการร่วมกันแก้ไขปัญหา มีผู้ใหญ่ออกมาให้ข่าวกันพร้อมหน้า จนกระทั่งได้ ข้อสรุปคือความสำเร็จ เด็กทุกชีวิตปลอดภัย  ชื่อเสียงของชนชาติไทยและประเทศชาติ ไทยดังกึกก้องไปทั่วโลกในทางที่ดีงาม  ความสำเร็จในการทำงานคือการดำเนินการไปด้วยดีและการบรรลุเป้าหมาย ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ โดยไม่มีการสูญเสีย ประเด็นนี้ให้ข้อคิดอะไรวงการศึกษาทางพระพุทธศาสนาของไทยเราบ้าง 

อันดับแรก ต้องมองให้ออกว่าการทำงานอย่างเป็นกระบวนการ มีขั้นตอนการทำงาน ย่อมนำไปสู่เป้าหมายปลายทางได้ไม่ยาก แต่เมื่อมีกระบวนการแล้วก็ต้อง ดำเนินการไปตามกระบวนการ และเฝ้าสังเกตในการแก้ไขปัญหา การจัดการศึกษาต้อง ใช้เวลาพิสูจน์ผลการจัดการ ไม่ใช่เรื่องคิดไปทำไปตามยถากรรม  

อันดับที่สอง ผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ เมื่อมอบความไว้วางใจให้ผู้ใดทำงานแล้ว ต้องมอบอำนาจสั่งการให้ไปด้วย ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องลงไปจ้ำจี้จ้ำไชไปทุกเรื่อง และพร้อมที่จะสนับสนุนด้านกำลังในทุกด้านที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการแก้ไขปัญหา ผู้มีอำนาจทำตัวเป็นกองหนุนเพื่อให้ทีมงานได้ขับเคลื่อนไม่ให้งานต้องหยุดชะงัก 

เรามาดูการจัดการศึกษาของเรายังไม่เข้าไปถึงจุดนี้ เมื่อย้อนไปศึกษาดูการจัดการศึกษาในยุคพระบิดาแห่งการศึกษาไทยคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม้จะเป็น เหตุการณ์ในอดีตนานไกล แต่จะเห็นว่าพระองค์ได้ทรงมอบหมายงานแล้วจะทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่ปรึกษา ทรงให้คำแนะนำและสนับสนุนด้านต่างๆ ตามควรแก่กรณี เมื่อไร เราจะได้เห็นการพัฒนาวงการ ศึกษายุคใหม่ที่เป็นไปทำนองนี้ 

อันดับที่สาม การบริหารจัดการบุคคล การเอาบุคคลผู้มีความสามารถจริงๆ เข้ามาทำงาน โดยไม่มีอคติให้มีข้อครหาใดๆ สังคมพุทธเรามีความจำเป็นต้องสร้างบุคลากร  ถ้าเรามีความมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงแก่พระศาสนา เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างคนหรือบุคลกรที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากร

ทางการศึกษาทั้งฝ่ายการบริหารการศึกษา และฝ่ายการสอน อาจจะต้องรวมไปถึงฝ่ายเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาด้วย เพราะการจัดการศึกษายุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จทุกอย่างต้องพร้อม  และแม้ทุกอย่างพร้อมแล้วแต่ถ้าการบริหารจัดการไม่พร้อมทุกอย่างก็ล้มเหลวได้ การบริหารจัดการศึกษาจึงต้องการบุคลากรผู้มีความรู้ มีความสามารถและมีใจรักในการเป็นผู้บริหารจัดการ พร้อมที่จะทุ่มเทเสียสละชีวิตเพื่องานและเพื่อพระศาสนา 

เราได้เห็นและได้ทราบระบบการบริหารจัดการในภารกิจกู้ภัยทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีที่จังหวัดเชียงรายกันมาพอสมควร ได้บทสรุปว่าเด็กทุกคนปลอดภัย การทำงานประสบความสำเร็จ เป็นที่ชื่นชมของชาวโลก เด็กทุกคนมีความสำนึกในบุญคุณของผู้เสียสละเพื่อชีวิตเขา ผู้ที่มีจิตอาสาทุกคนเต็มใจและพึงพอใจในผลงาน ไม่รู้สึกเสียดายกับสิ่งที่เสียสละ ทั้งกำลังกายกำลังทรัพย์และ กำลังสติปัญญา แต่กลับมีความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมทำให้เหตุการณ์จบลงได้

อย่างประเสริฐเลิศเลอ 

ความสำเร็จอันงดงามครั้งนี้เกิดมีขึ้นได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันที่เรียกว่าสามัคคี แต่ที่สำคัญคือการจัดระบบบริหารจัดการที่ดี มอบหน้าที่ให้ผู้ร่วมงานที่ชัดเจน ทุกคนเชื่อฟังหัวหน้าผู้มีอำนาจสั่งการและทำตามคำสั่งเป็นอย่างดี อย่างที่ไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน 

ประเด็นสำคัญที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง คือการที่โค้ชเอกพลแนะนำให้น้องๆ ทั้งหมด สู้ปัญหาชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่อย่างร้ายแรงที่สุดในขณะที่ติดอยู่ในถ้ำนั้น ด้วยการแนะนำให้ใช้สมาธิและสติในการดำรงชีวิตอยู่ เหตุผลคือเมื่อมีสมาธิและมีสติจะสามารถมีพลังต่อสู้หรืออดทนต่อความหิวความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงได้ และทุกคนปฏิบัติตามอย่างเชื่อฟัง ปรากฏว่าคำแนะนำเกิดผล ได้ผลเต็มร้อย คือเธอเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานานถึง  10 วันโดยไม่มีอาหารอะไรเลย มีแต่ได้ดื่มน้ำที่ย้อยลงมาจากโขดหิน เหตุการณ์นี้เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ทำให้โลกตื่นเต้น ตะลึงว่าเป็นไปได้อย่างไร แต่ในที่สุดก็มาได้ข้อสรุปว่าสติและสมาธิเป็นเครื่องมือเซฟพลังงานในร่างกายได้ และยังส่งผลให้เซฟพลังจิตหรือ “กำลังใจ” ให้ได้อย่างใหญ่หลวง ประดุจอาหารทิพย์จากสวรรค์ ข้อนี้ส่งผลให้ชาวโลกหันมาสนใจพระพุทธศาสนา หันมาสนใจการฝึกสมาธิ หันมาให้ความสนใจคำสอนเรื่องสติกันอย่างกว้างขวางและจริงจัง กลายเป็นว่าทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีเป็นทูตศาสนาพุทธไปโดยไม่ได้เจตนา 

จึงมาถึงประเด็นสำคัญว่าสมาธิและสติเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดได้เองตามธรรมดาของคนหรือไม่ ก็ต้องมีคำตอบว่าเกิดไม่ได้ เมื่อเกิดเองไม่ได้ สิ่งที่คณะสงฆ์ไทย ดำเนินการอยู่คือการศึกษา การจัดการศึกษาเพื่อพระภิกษุสามเณรและเพื่อชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ ซึ่งจัดอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศไทยอยู่แล้ว แถมยังจัดขยายต่อไปในต่างประเทศ  แล้วจะจัดการศึกษาอย่างไรให้ ผู้ ศึกษาเล่าเรียนได้มีประสบการณ์ในการใช้สมาธิและสติในการแก้ปัญหาฝ่าวิกฤติปัญหาชีวิตได้ แน่นอนที่สุดว่าต้องปรับกลยุทธ์แบ่งเวลาให้มีเวลาในการฝึกฝนแนวปฏิบัติ ต้องลดเวลาศึกษาเล่าเรียนจากตำรา เพิ่มเวลาฝึกหัดปฏิบัติให้มากขึ้น ต้องวางแนวการจัดการศึกษากันใหม่ ต้องจัดระบบบริหารจัดการการศึกษาพระพุทธศาสนากันใหม่ จัดให้ได้ความสมดุลระหว่างปริยัติกับปฏิบัติ

การจัดกระบวนการการศึกษา การวางอำนาจทางการศึกษา การบริหารงานบุคคลให้โปร่งใส การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายคือได้ผลผลิต คือผู้จบการเรียนการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติชีวิตได้ด้วยตนเอง และสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามเจอปัญหาวิกฤติชีวิตหมู่ ถ้าไม่ได้ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์เสียในปัจจุบัน  เราอาจจะล้าหลังกว่าการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ชนชาติอื่นเขาจัด  อาจจะถึงกับตกรุ่นตกเทรนด์ไปก็ได้ 

ปัจจุบันคณะสงฆ์เรามีทรัพยากรบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ไม่น้อย แต่คณะสงฆ์ยังไม่ได้หยิบมาใช้ประโยชน์เลย ท่านเหล่านั้นมุ่งมั่นไปศึกษาจบมาได้ด้วยความยากลาบากและ เหน็ดเหนื่อย แต่ จบมา แล้วก็มารอสวดมาติกา ไม่มีงานจากคณะสงฆ์รองรั บทั้งๆ ที่ท่านพร้อมจะทำงาน  สงฆ์ไม่ต้องลงทุนส่งคนไปพัฒนาความรู้เลย จึงเป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยเลย  อย่างไรก็ขอฝากท่านผู้เกี่ยวข้องได้โปรดพิจารณาด้วยเถิด เราจะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกได้อย่างไร ถ้าไม่ได้พัฒนาตัวเองเลย