แม่ของพระพุทธเจ้า

พระมหาชนก ชวนปญฺโญ

(ป.ธ.7, ศน.บ.)
ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายบริหาร สานักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม

 

พระมารดาแห่งนักบวชหญิง และกุศโลบายพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธเจ้า  เพราะประวัติพรรณนาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ เราจึงไม่ทันคิดว่า เจ้าชายสิทธัตถะ  ทรงเป็นกำพร้า (แม่) พระนางมายาทรงให้ประสูติกาลโอรสน้อยได้ 7 วัน ก็สวรรค์คต  ปลดภาระความเป็น “แม่ผู้ให้กำเนิด” แต่เพียงเท่านั้น หน้าที่ “แม่ผู้เลี้ยงดู” ทรงฝากฝังให้พระกนิษฐา (น้องสาว) คือ เจ้าหญิงปชาบดีโคตมีสานต่อ 

เจ้าชายน้อยผู้กำพร้า จึงเติบโตมาด้วยอุทกธารา (น้ำนม) ในพระอุระของพระนาง ปชาบดีโคตมี ผู้ติดตามพระพี่นางมาตั้งแต่คราวพิธีอาวาหมงคล แม่ในภาพจำของเจ้าชายน้อยก็คือพระนางปชาบดีโคตมี พูดง่ายๆ ก็คือ ความรักที่เจ้าชายน้อยมีต่อพระนางเป็นความรักของลูกที่มีแต่แม่เต็มขั้น 

พระนางปชาบดีเองก็ทรงรักเจ้าชายดุจเดียวกับโอรสในอุทร ยิ่งนึกถึงว่าพระพี่นาง ซึ่งทรงเห็นหน้าพระโอรสเพียง 7 วัน ก็จากโลกนี้ไป ทิ้ลูกน้อยให้เป็นกำพร้าเสียแล้ว  

ความรักในพี่สาวและความรักในโอรสของพี่สาว ก็หลวมรวมเป็นอันเดียวกัน แม้พระนางปชาบดีจะมีพระโอรสธิดาร่วมพระบิดาเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะถึง 2 พระองค์ คือ  เจ้าชายนันทะ กับเจ้าหญิงรูปนันทา แต่ความรักที่มีต่อเจ้าชายสิทธัตถะก็มิได้ลดน้อยลง 

ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว 2 ปี ต่อมา ก็ทรงรับอาราธนาเพื่อกลับมา โปรดหมู่พระญาติ ในคราวนั้น เจ้าชายนันทะก็ทรงออกผนวชพระนางปชาบดีโคตรมีเองก็นำพระญาติฝ่ายหญิง  (ในจำนวนนั้นมีพระนางพิมพา  พระมารดาของสามเณรราหุลรวมอยู่ด้วย) เข้าไปทูลขอผนวช แต่พระพุทธองค์ไม่ทรง อนุญาต ทรงให้ เหตุผลว่า “ยังไม่เคยมี 

นักบวชหญิง (ภิกษุณี) มาก่อน” ซึ่งก็เป็นความจริงน่าพิจารณาว่า ทำไมทรงตรัส เช่นนั้น ในเมื่อขณะนั้นก็เพิ่งจะทรงประกาศศาสนาได้เพียง 2 ปี การจะให้ กำเนิดนักบวชหญิงหรือภิกษุณี ย่อมจะทำได้อยู่แล้ว… 

ข้อนี้หากหันกลับไปดูค่านิยมของสังคมในสมัยนั้น จะพบว่าสังคมไม่ได้ให้บทบาทกับผู้หญิงมากไปกว่าผู้อยู่เบี้องหลัง ถูกวางไว้เป็นคอยรับใช้เพศชาย  มีคำเรียกทั่วไปว่า ปาทปริจาริกา แปลว่า  ผู้รับใช้ใกล้เท้า (บุรุษ) และมองเป็นเพศที่ อ่อนแอเป็นภาระของฝ่ายชายที่ต้องดูแลเลี้ยงดู  

พระดำรัสทัดทานว่า “ไม่เคยมีมา ก่อน” จึงไม่ได้หมายเอาเฉพาะศาสนาของพระพุทธเจ้า แต่หมายถึงทุกลัทธิศาสนา ในชมพูทวีปยุคนั้น ไม่เคยปรากฏว่ามี  และไม่ยอมรับให้มีนักบวชหญิงมาก่อน 

หากพระพุทธเจ้าจะทรงให้กำเนิดนักบวชหญิง ก็เท่ากับทรงคิดพลิกประวัติศาสตร์นักบวชครั้งใหญ่ และเป็นการยกระดับบทบาทของผู้หญิงครั้งสำคัญ นับว่าเรื่อง สั่นสะเทือนค่านิยมเดิมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ยากที่สังคม จะยอมรับได้ 

ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ขอบวชก็ยังเป็นแม่ (คนที่สอง) ของพระพุทธเจ้าอีกด้วย หากพระองค์อนุญาตอย่างรวบรัดโดยไม่มีเงื่อนไขหรือเปิดช่องให้ผู้หญิงได้พิสูจน์ความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวให้ ประจักษ์ และยอมรับโดยทั่วไปเสียก่อน  กระแสสังคมก็จะโจมตีพระพุทธองค์อย่างหนัก กล่าวหาว่า พระองค์ย่ำายีขนบสังคมยอมให้ผู้หญิงเป็นนักบวช เพราะเห็นแก่หน้าค่าที่ผู้ขอบวชเป็นพระมารดา พระองค์ยังถูกความรักความผูกพันส่วนตัวครอบงำจิตใจอยู่  

การกำเนิดภิกษุณีจะเป็นที่ครหามากกว่าน่าเชื่อถือ และจะกลายเป็นมลทินต่อพระศาสนาของพระองค์ตราบนานเท่านาน การทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาซึ่งยากอยู่แล้ว  ก็จะยากยิ่งขึ้นไปอีก

พระพุทธองค์ทรงเป็นนักปฏิวัติด้วยสันติวิธีก็จริง แต่ก็มีผู้เสียผลประโยชน์หรือไม่เห็นดีเห็นงามอยู่เป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นมองหาช่องที่จะโจมตีพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงต้องทำการต่างๆ  ด้วยความรอบคอบรัดกุม

“แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ท่านกำลังแตะมือกัน เพื่อ “วางหมาก” สำคัญ หมากที่จะ “ปฏิวัติ” ค่านิยมเพื่อให้สังคมยอมรับนักบวชหญิงอย่างละมุนละไมที่สุด…”

ความรักในทางโลกีวิสัยไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ ไม่มีอยู่ในใจของพระอรหันต์อยู่แล้ว  จะมีก็แต่ความเมตตาปรารถนาดีต่อสัตว์โลกอย่างเสมอภาคกันเท่านั้น ข้อนี้เป็นความ เข้าใจร่วมของทุกลัทธิแนวคิดในสมัยนั้นอยู่แล้ว  

เหตุการณ์ที่พระนางปชาบดีพาบริวารญาติมิตรมาขอบวชนั้น เอิกเกริกไม่น้อย สังคมย่อมจับตาเป็นพิเศษ วิธีที่ทรงใช้ก่อนการให้อุปสมบทพระนางปชาบดีโคตมี จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจมาก พระองค์แยกชัดเจนระหว่างพระคุณส่วนตัวกับการพระศาสนา 

เบื้องต้น ทรงพิสูจน์ความตั้งใจของพระนางปชาบดีด้วยการตรัสทัดทานถึงสามครั้ง  ครั้นพระพุทธองค์เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับ ณ เมืองเวสาลี พระนางและพวกก็ยังติดตามไปไม่ลดละ ผู้หญิงบอบบางผู้ไม่เคยผ่านความลำบากลำบนใดๆ มาก่อนกลุ่มหนึ่ง  พากันโกนหัว ห่มผ้ายอมน้ำฝาด แสดงเจตจำนงแน่วแน่ว่าตัดขาดจากทางโลกอย่างเด็ดขาด รอนแรมจากแคว้นสักกะ ข้ามแคว้นมัลละ เข้าสู่แคว้นวัชชี ติดตามพระพุทธเจ้า ไปถึงเมืองเวสาลี แล้วรอเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ซุ้มประตู ในสภาพอิดโรยมอมแมม เท้าทั้งคู่พองและแตกเป็นแผล  

พระอานนท์ออกมาเห็นเข้าก็รีบไถ่ถาม ได้ความว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงบวชในพระธรรมวินัยนี้  แต่พระนางมีเจตนาจะบวชเป็นมั่นคงแล้ว  พระอานนท์ทราบแล้วก็บอกให้พระนางและพวกรออยู่ตรงนี้ก่อน ตนเองเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้ทรงประทานอนุญาต พระพุทธองค์ก็ยังทรงทัดทานถึง สามครั้ง แต่พระอานนท์ท่านเป็นคนมีไหวพริบ จึงเปลี่ยนเป็นเกริ่นถามพระองค์ ว่า “ผู้หญิงที่บวชในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตเจ้าประกาศไว้นี้ สามารถบรรลุเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ได้หรือไม่” เป็นคำถามที่ชาญฉลาดมาก 

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า “อานนท์ ผู้หญิงที่บวชในพระธรรมวินัยที่ พระตถาคตเจ้าประกาศไว้นี้ ก็สามารถบรรลุเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี  และอรหันต์ได้” 

ได้คำตอบดังนั้นแล้ว ท่านก็รีบคว้าโอกาสทองกราบทูลว่า “ถ้าผู้หญิงบวชในพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงประกาศแล้วนี้ สามารถบรรลุธรรมได้  ก็ขอให้ผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัยนี้เถิด” 

ครุธรรม ๘ ประการ ก็เป็น “ไม้เด็ด”  ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานเพื่อให้นักบวชหญิงใช้ “ยกระดับตนเอง” เข้าสู่เส้นทางแห่งพระธรรมวินัย

สิ้นกราบทูล พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “อานนท์ ถ้าพระนางปชาบดีโคตมี ปฏิบัติตามครุธรรม 8 ประการ อย่างเคร่งครัดได้ เธอก็ถือว่าอุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว” 

ครุธรรม 8 ประการ คือ 

  1. แม้บวชมานานนับร้อยปี ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้ผู้บวชในวันนั้น 
  2. ต้องจำพรรษาอยู่ในวัดที่มีภิกษุ 
  3. ต้องไปลงอุโบสถและรับฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน 
  4. หลังจeพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย 
  5. เมื่อต้องอาบัติหนักต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย 
  6. ต้องเป็นสิกขมานา 2 ปี ก่อน จึงจะขออุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายได้ 
  7. ต้องไม่บริภาษด่าทอภิกษุอย่างเด็ดขาด 
  8. จะโอวาทสั่งสอนภิกษุไม่ได้ รับโอวาทจากภิกษุเท่านั้น 

พระพุทธองค์ให้เหตุผลว่า ครุธรรมนี้จะป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหมือนการสร้างทำนบกั้นน้ำาในเหมืองไม่ให้ล้นออกมาก่อความเสียหายให้เรือกสวนไร่นา 

หลังจากพระนางปชาบดีโคตมีทรงยอมรับครุธรรม 8 ประการ ที่พระพุทธองค์ประทาน การอุปสมบทเป็นภิกษุณีก็เป็นอันสำเร็จตามพุทธานุมัติ 

มองอย่างผิวเผิน…  เหตุการณ์ตั้งแต่พระนางปชาบดีโคตรมีทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ จนถึงประทานครุธรรม 8 ประการ ล้วนแต่ชวนให้คิดว่าพระพุทธเจ้ากีดกันไม่ให้มีนักบวชหญิงในศาสนาของพระองค์ กระทั่งนักวิชาการบางคนถึงขั้นตั้งข้อสังเกตว่า ครุธรรม 8 ประการ เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขั้นเพื่อทำหมันภิกษุณี (หนังสือเรื่อง “เหตุเกิด พ.ศ.1”  โดย พระมโน เมตตานันโท) 

แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้ง มองไปถึงค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิง ในสังคมสมัยนั้น จะเข้าใจได้ว่า แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ท่านกำลังแตะมือกัน เพื่อ “วางหมาก” สำคัญ หมากที่จะ “ปฏิวัติ” ค่านิยม เพื่อให้สังคมยอมรับนักบวชหญิง อย่างละมุนละไมที่สุด… 

ความลำบากลำเค็ญที่พระนางปชาบดีโคตรมีและพวกประสบขณะกำลังพิสูจน์ความตั้งใจนั้นก็ไม่ธรรมดาเลย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมจะได้รับความสนใจและเห็นใจ จากสังคมอย่างไม่ธรรมดาเช่นกัน ดังนั้น การที่พระพุทธองค์ทำให้ดูยาก ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขอบวชได้พิสูจน์ความตั้งใจจริงของตนเองชัดเจนขึ้นไปด้วย 

ขณะที่ครุธรรม 8 ประการ ก็เป็น “ไม้เด็ด” ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานเพื่อให้นักบวชหญิงใช้ “ยกระดับตนเอง” เข้าสู่เส้นทางแห่งพระธรรมวินัย พอเข้าสู่ธรรมวินัยแล้ว ทุกคน ย่อมได้บรรลุธรรมถึงระดับสูงสุดคือพระอรหันต์เสมอกันอยู่แล้ว หลักคิดเหล่านี้ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะ “ปลดล็อก” สังคมให้ยอมรับนักบวชหญิง ประการหนึ่งเป็นหลักการ เพื่อยกระดับผู้หญิงให้ก้าวข้ามขีดจำกัด